- เมื่อใครคนหนึ่งต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยเรื้อรัง การดูแลผู้ป่วยก็มักตกเป็นของสมาชิกคนใดคนหนึ่งในครอบครัว ซึ่งบ่อยครั้งเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นโดยที่ทั้งสองฝ่าย คือ ‘ผู้ป่วย’ และ ‘ผู้ดูแล’ ต่างก็ไม่ทันได้ตั้งตัว
- ในแง่ของผู้ดูแล จึงอาจต้องเผชิญกับปมขัดแย้งในใจของตัวเอง บางกรณี ผู้ดูแลจำเป็นต้องละทิ้งชีวิตส่วนตัว ลาออกจากงานเพื่อทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยเต็มเวลา กลายเป็นความกดดันเรื้อรัง เพราะบางครั้งแค่คิดท้อใจ หรือคิดอยากใช้ชีวิตของตัวเองบ้าง ก็อาจทำให้ตัวเองรู้สึกผิดได้แล้ว
- จึงเป็นเรื่องท้าทายว่า เราจะรับมือกับความรู้สึกต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาในแต่ละวันอย่างไร – ผิดไหม หากบางครั้งเราอยากมีเวลาหาความสุขให้ตัวเองบ้าง?
‘เกิด แก่ เจ็บ ตาย’ เป็นสภาวะที่ทุกชีวิตย่อมหลีกหนีไม่พ้น หลายคนอาจหวาดกลัวความตายที่จะมาพรากลมหายใจสุดท้ายของชีวิต แต่อีกแง่หนึ่ง สิ่งที่น่ากลัวไม่แพ้ความตายก็คือ การถูกขังอยู่ในร่างกายของตัวเองจากความเจ็บป่วยที่ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้อีกต่อไป
เมื่อใครคนหนึ่งต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยเรื้อรัง การดูแลผู้ป่วยก็มักตกเป็นของสมาชิกคนใดคนหนึ่งในครอบครัว ซึ่งบ่อยครั้งเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นโดยที่ทั้งสองฝ่าย คือ ‘ผู้ป่วย’ และ ‘ผู้ดูแล’ ต่างก็ไม่ทันได้ตั้งตัว
ในแง่ของผู้ป่วยเอง ก็คงไม่อยากเป็นภาระของคนในครอบครัว ขณะที่ในแง่ของผู้ดูแล ก็อาจต้องเผชิญกับปมขัดแย้งในใจของตัวเอง บางกรณี ผู้ดูแลจำเป็นต้องละทิ้งชีวิตส่วนตัว ลาออกจากงานเพื่อทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยเต็มเวลา กลายเป็นความกดดันเรื้อรัง เพราะบางครั้งแค่คิดท้อใจ หรือคิดอยากใช้ชีวิตของตัวเองบ้าง ก็อาจทำให้ตัวเองรู้สึกผิดได้แล้ว
ในฐานะผู้ดูแล จึงเป็นเรื่องท้าทายว่า เราจะรับมือกับความรู้สึกต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาในแต่ละวันอย่างไร – ผิดไหม หากบางครั้งเราอยากมีเวลาหาความสุขให้ตัวเองบ้าง?
ข้อมูลจากการสำรวจผู้สูงอายุจำนวน 6,394,022 ราย โดยกระทรวงสาธารณสุขปี 2563 พบว่า มีผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง กล่าวคือเป็นกลุ่มที่ติดบ้าน หรือติดเตียง ถึง 1.3 ล้านรายจากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่า จำนวนผู้ป่วยที่ต้องมีผู้ดูแลตลอดเวลา เฉพาะที่ถูกสำรวจก็ขึ้นหลักล้านไปแล้ว ยังไม่รวมที่ตกสำรวจและผู้ป่วยเนื่องจากอุบัติเหตุหรือสภาพทางจิตใจอื่นๆ ที่จำเป็นต้องมีผู้ดูแลด้วยซ้ำ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ ผู้ป่วยเหล่านี้มักมีอาการเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ส่งผลให้ผู้ดูแลไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจล่วงหน้า ทำให้เกิดปัญหาความไม่พร้อมในด้านต่างๆ ตามมา เพราะการเป็นผู้ดูแล หมายถึง ผู้ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือสมากชิกในครอบครัวที่เจ็บป่วยจนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นคู่ครองที่ป่วย, ลูกที่มีภาวะบกพร่อง หรือพ่อแม่ที่แก่ชรา ซึ่งการเปลี่ยนบทบาทอย่างกะทันหัน มักส่งผลต่อสภาพอารมณ์ของผู้ดูแลไม่มากก็น้อย ผู้ดูแลจึงมักรู้สึกโกรธ, หงุดหงิด, เหนื่อยหน่าย, โดดเดี่ยว หรือซึมเศร้า
หากมีอารมณ์เชิงลบเกิดขึ้น ควรเข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่ควรผลักไสอารมณ์เหล่านั้น ด้วยการหลอกตัวเองว่า “ไม่เป็นไร” เพราะจะยิ่งกลายเป็นความกดดันที่รอวันระเบิด แต่ควรตั้งสติให้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง หาทางผ่อนคลาย เช่น พูดคุยกับคนอื่นๆ, ขอความช่วยเหลือจากผู้ดูแลมืออาชีพ โดยใช้บริการจากศูนย์จัดส่งผู้ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเพื่อดูแลที่บ้าน ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ที่บ้าน, หาเวลาส่วนตัวให้ตัวเองในแต่ละวัน ฯลฯ เพราะหน้าที่ดูแลผู้ป่วยนั้น เป็นงานระยะยาวที่ไม่อาจรู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไร และการปล่อยให้ตัวเองสะสมความเครียดอย่างต่อเนื่อง ก็อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวล ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งกว่าเดิม
หน้าที่ดูแลผู้ป่วยที่เป็นคนในครอบครัวนั้น ถือเป็นงานใหญ่ที่ต้องใช้แรงกายแรงใจมหาศาล และบ่อยครั้งมักเป็นงานที่ต้องทำ 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีโอกาสสูงมากที่ผู้ดูแลอาจรู้สึกอ่อนล้า หมดเรี่ยวแรง
Caregiver Burden คือ ภาวะที่ผู้ดูแลรู้สึกว่าหน้าที่ดูแลผู้ป่วยส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของตัวเอง มีความรู้สึกเหนื่อยล้า, เครียด, นอนไม่หลับ หรือซึมเศร้า ซึ่งเมื่อผู้ดูแลมีความรู้สึกดังกล่าว สิ่งที่มักตามมาก็คือ ผู้ป่วยที่อยู่ในการดูแล อาจไม่ได้รับการเอาใจใส่เท่าที่ควร และในระยะยาว หากผู้ดูแลไม่สามารถจัดการกับภาวะอารมณ์ของตัวเองได้ ผู้ป่วยก็อาจถูกทอดทิ้ง หรือกระทั่งถูกทำร้ายร่างกายโดยผู้ดูแลได้ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
ผู้ดูแลจึงควรรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง และเข้าใจความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่ภาวะ ‘หมดไฟ’ ซึ่งได้แก่
- ต้องอยู่ร่วมกับผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง
- ขาดการติดต่อเข้าสังคมกับคนอื่นๆ
- มีปัญหาด้านการเงิน
- ผู้ดูแลขาดทักษะการจัดการอารมณ์และการแก้ปัญหา
- ไม่มีผู้ช่วย หรือไม่มีตัวช่วยสนับสนุนด้านอื่นๆ เช่น กำลังใจ, การมีผู้รับฟัง, การเงิน ฯลฯ
ยิ่งผู้ดูแลอยู่ในกลุ่มปัจจัยเสี่ยงข้างต้นหลายข้อมากเท่าไร ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหมดไฟจากการดูแลผู้ป่วยมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งอาการหมดไฟ มักเกิดจากการที่ผู้ดูแลจดจ่ออยู่กับการดูแลผู้ป่วยมากเกินไป จนลืมให้ความใส่ใจแต่สุขภาพโดยรวมของตัวเอง – อาการที่พบบ่อยของภาวะหมดไฟ ได้แก่
- รู้สึกกังวลตลอดเวลา
- เหนื่อยง่าย
- นอนไม่หลับ หรือนอนหลับมากเกินไป
- น้ำหนักลดหรือเพิ่มอย่างรวดเร็ว
- ขี้หงุดหงิด โกรธง่าย
- สูญเสียความสนใจในการทำกิจกรรมต่างๆ ที่เคยชื่นชอบ
- ปวดศีรษะ ปวดตัว ปวดท้องบ่อยๆ โดยไม่มีสาเหตุ
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใช้สิ่งเสพติด หรือยานอนหลับ เพื่อคลายเครียด
ว่ากันว่าแม้แต่ผู้ที่ใจเย็น และมีความยืดหยุ่นทางจิตใจ (Resilient) สูง เมื่อต้องรับบทบาทผู้ดูแลคนป่วย ก็ยังอาจรู้สึกกดดันและเกิดความเครียดได้ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการดูแลผู้ป่วยก็คือ การดูแลร่างกายและจิตใจของตัวเองควบคู่กันไปด้วย เพราะต้องไม่ลืมว่า เราคงไม่สามารถดูแลคนอื่นให้ดีได้ หากเราไม่ได้ดูแลตัวเองให้พร้อมทั้งกายและใจเสียก่อน
เมื่ออยากพัก แต่กลับรู้สึกผิดปัญหาอันซับซ้อนของผู้ดูแลผู้ป่วยที่เป็นสมาชิกในครอบครัวส่วนใหญ่ก็คือ หากผู้ดูแลไม่ผูกหน้าที่นี้ไว้กับคำว่า ‘กตัญญู’ ก็มักผูกมันไว้กับคำว่า ‘เสียสละ’ – สองคำนี้เอง อาจเป็นกับดักความรู้สึกผิดในใจที่ยากจะกำจัดออกไปได้
ไม่ว่าจะดูแลพ่อแม่ที่กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงด้วยโรคชรา, ดูแลลูก คู่ครอง หรือพี่น้องที่มีภาวะบกพร่องช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ก็ล้วนเป็นการดูแลที่มีสายสัมพันธ์เข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นเรื่องความผูกพันทางใจที่ผู้ดูแลมักเต็มใจทุ่มเท แต่เพราะการดูแลผู้ป่วยเป็นหน้าที่ระยะยาว จึงควรกำหนดบทบาทหน้าที่ให้ชัดเจน วางแผนหาผู้ช่วยในด้านต่างๆ แทนการเริ่มทำด้วยกรอบความคิดของคำว่า กตัญญู หรือ เสียสละ เพราะหากเมื่อไรต้องการหยุดพัก เราจะได้ไม่ต้องรู้สึกผิดและโทษตัวเอง
การใช้คำว่า ‘หน้าที่’ จึงช่วยในแง่ความรู้สึกของผู้ดูแล ให้สามารถแยกหน้าที่การดูแลออกจากความรู้สึกส่วนตัวได้บ้างไม่มากก็น้อย
เพราะแม้ว่าการกตัญญูหรือเสียสละเป็นเรื่องดีที่ควรทำ แต่บ่อยครั้งสิ่งนี้ก็อาจทำให้เราลืมคุณค่าในตัวเอง เนื่องจากเมื่อใดที่คิดถึงความต้องการของตัวเอง ผู้ดูแลก็อาจรู้สึกผิด โดยเฉพาะเมื่อต้องการออกไปหาความสุขส่วนตัว เช่น ไปช็อปปิ้ง หรือพบปะเพื่อนฝูง ซึ่งอาจทำให้ต้องฝากผู้ป่วยไว้กับคนอื่น ผู้ดูแลอาจรู้สึกว่าตัวเองเห็นแก่ตัว ไม่เสียสละ จนถึงขั้นตัดสินใจละทิ้งความต้องการนั้นไปเสีย และนานวันเข้าก็อาจจะลืมไปว่าแม้ตัวเองจะเป็นผู้ดูแล แต่ก็ควรมีเวลาส่วนตัว ได้ทำในสิ่งที่ชอบบ้าง
สังคมรอบตัวก็มีส่วนสำคัญ เพราะสายตาและคำตัดสินจากคนภายนอก มักมองว่าผู้ดูแลที่ออกไปใช้ชีวิตของตัวเองนั้น ไม่เสียสละ ไม่ทุ่มเท เห็นแก่ตัว บ่อยครั้ง ผู้ดูแลจึงเลือกที่จะเก็บความรู้สึกเชิงลบหรือปัญหาต่างๆ รวมทั้งความต้องการของตัวเองไว้ในใจเพียงลำพัง เพราะกลัวถูกตัดสิน เช่นนี้ก็อาจยิ่งเพิ่มความเครียดให้กับผู้ดูแลมากขึ้นไปอีก
นอกจากนี้ ความรู้สึกผิดของผู้ดูแลอาจเกิดจากการดูแลที่ผิดพลาดจนส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย หรือผู้ดูแลอาจรู้สึกผิดที่ตัวเองหงุดหงิด หรือไม่ชอบพฤติกรรมบางอย่างของผู้ป่วย บางครั้งก็อาจรู้สึกผิดที่ในใจแอบคิดว่าเมื่อไรเรื่องราวเหล่านี้จะจบลงเสียที
ไม่ว่าความรู้สึกผิดจะเกิดจากอะไร ผู้ดูแลจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะให้อภัยตัวเอง เข้าใจว่าเราก็เป็นปุถุชนคนธรรมดา ที่ไม่อาจทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบได้ตลอดเวลา การดูแลผู้ป่วย เป็นเพียงหน้าที่หนึ่ง ที่ไม่ว่าเราจะเลือกเองหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อรับหน้าที่แล้ว ก็ควรทำอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ และหากเกิดความรู้สึกเชิงลบขณะที่ดูแลผู้ป่วย ก็ควรหาวิธีแสดงอารมณ์อย่างเหมาะสม หรือขอเวลานอกให้ตัวเองด้วยการเดินไปหาที่สงบจิตใจ (ควรจัดการให้ผู้ป่วยอยู่ในบริเวณที่ปลอดภัยก่อน) เราควรเข้าใจว่าการแบ่งเวลาให้ตัวเองบ้าง ไม่ใช่เรื่องผิด แต่เป็นเรื่องที่ควรทำ เพราะจะส่งผลดีในระยะยาวทั้งต่อผู้ดูแลและตัวผู้ป่วยเอง
ผู้ดูแลคนป่วย อาจมีสองความคิดที่ขัดแย้งกันอยู่เสมอ ระหว่างผู้ที่ต้องการดูแลสมาชิกในครอบครัวที่เจ็บป่วยอย่างเต็มความสามารถ กับคนที่อยากวิ่งหนีจากสถานการณ์ตรงหน้าไปให้ไกลแสนไกล หากว่าคุณกำลังต้องต่อสู้กับความขัดแย้งเช่นนี้ในใจทุกวัน ขอให้รู้ว่าคุณไม่ได้เดียวดาย ขอให้ อิ่มกมล แคร์ แอท โฮม ศูนย์จัดส่งผู้ดูแลผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ได้เป็นผู้ช่วยแบ่งเบาภาระของคุณ เพื่อให้คุณได้ดูแลคนที่คุณรักไปพร้อมๆ กับการได้ใช้ชีวิตของตัวเอง
อ้างอิง :mayoclinic.org, caregiver.org, dop.go.thCr : Thairath