ไลฟ์สไตล์รู้จัก ‘โพรไบโอติกส์’ เสริมความโปร

โพรไบโอติกส์คืออะไร? ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ที่บ้าน ศูนย์จัดส่งผู้ดูแลที่บ้าน อิ่มกมล แคร์ แอท โฮม ชวนมาทำความรู้จักและเข้าใจเพื่อเสริมความแข็งแรงให้สุขภาพในวัยสูงอายุ

โพรไบโอติกส์ (Probiotics) คืออะไร

โพรไบโอติกส์ เป็นจุลินทรีย์ที่มีชีวิต ได้แก่ แบคทีเรียบางชนิด และยีสต์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรักษาสมดุลของการทำงานของลำไส้ และสร้างเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย แบคทีเรียที่เป็นประโยชน์เหล่านี้สามารถพบได้ตามธรรมชาติในลำไส้ของมนุษย์ และยังมีอยู่ในอาหาร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิดโพรไบโอติกส์ ได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากมีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยช่วยสร้างสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ และส่งเสริมสุขภาวะของมนุษย์ ตัวอย่างของจุลินทรีย์ที่นำมาใช้ประโยชน์ ได้แก่

  • แบคทีเรียสายพันธุ์ Lactobacillus ได้แก่ Lactobacillus casei, Lactobacillus rhamnosus, Lactobacillus bulgaricus, Lactobacillus reuteri และ Lactobacillus acidophilus
  • แบคทีเรียสายพันธุ์ Bifidobacterium ได้แก่ Bifidobacterium bifidum
  • ยีสต์ที่ไม่ก่อโรค ได้แก่ Saccharomyces boulardii

โพรไบโอติกส์ (Probiotics) พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) และซินไบโอติกส์ (Synbiotics) แตกต่างกันอย่างไร

พรีไบโอติกส์ เป็นอาหารที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของ โพรไบโอติกส์ ได้แก่ ใยอาหารจากพืชผักชนิดต่างๆ เช่น หัวหอม ถั่วเหลือง และสารอาหารอื่นๆ ได้แก่ น้ำตาลในนมซินไบโอติกส์ เป็นส่วนผสมของ โพรไบโอติกส์ และพรีไบโอติกส์ ตัวอย่างของซินไบโอติกส์ ได้แก่ นมเปรี้ยว โยเกิร์ต

โพรไบโอติกส์มีประโยชน์กับผู้สูงอายุอย่างไร

ผู้สูงอายุอาจมีปัญหาทางสุขภาพต่างๆ ได้แก่ ความผิดปกติของการขับถ่าย ระบบภูมิคุ้มกันต่ำลงกว่าวัยหนุ่มสาว และเป็นโรคไม่ติดต่อต่างๆโพรไบโอติกส์ให้ประโยชน์ผ่านกลไกต่างๆ ช่วยรักษาสภาวะสมดุลของลำไส้โดยการแข่งขันและจำกัดการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่เป็นอันตราย ดังนั้นจึงช่วยรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ นอกจากนี้โพรไบโอติกส์อาจผลิตสารต้านจุลชีพ เสริมสร้างการทำงานของผนังกั้นทางเดินอาหาร ปรับการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน และช่วยในการสลายส่วนประกอบของอาหารบางชนิด

โดยประโยชน์ต่างๆ ที่มีหลักฐานจากการวิจัยทางการแพทย์มีดังนี้

ผลต่อระบบทางเดินอาหาร

ช่วยฟื้นฟูสมดุลตามธรรมชาติของจุลินทรีย์ในลำไส้ ช่วยในการย่อยอาหารและการดูดซึมสารอาหาร นอกจากนี้โพรไบโอติกส์ อาจบรรเทาอาการผิดปกติ ของระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องอืด มีแก๊ส และท้องผูก ซึ่งพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ นอกจากนี้การวิจัยแสดงให้เห็นว่า โพรไบโอติกส์ สามารถช่วยรักษาสุขภาพของผนังกั้นลำไส้ ป้องกันแบคทีเรียที่เป็นอันตรายไม่ให้ซึมผ่านเยื่อบุลำไส้และทำให้เกิดการอักเสบ

ผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน

รักษาสมดุลของแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ในลำไส้ การวิจัยพบว่า โพรไบโอติกส์ ช่วยเสริมการทำงานของภูมิคุ้มกัน โดยกระตุ้นการผลิตเซลล์ภูมิคุ้มกัน และส่งเสริมการตอบสนองของภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง การบริโภค โพรไบโอติกส์ เป็นประจำช่วยลดความเสี่ยงและความรุนแรงของการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร

ผลต่อกระดูก

โพรไบโอติกส์ บางสายพันธุ์อาจมีบทบาทในการชะลอการสูญเสียความหนาแน่นของมวลกระดูก ช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียม ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับการรักษาความแข็งแรงของกระดูกและป้องกันโรคกระดูกพรุน ลดการอักเสบ

ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด

โพรไบโอติกส์ บางสายพันธุ์ เช่น Lactobacillus acidophilus และ Bifidobacterium longum ช่วยลดความดันโลหิตและปรับปรุงระดับไขมัน เช่น LDL มีการวิจัยพบว่า โพรไบโอติกส์ ลดการอักเสบดังแสดงด้วยการลดค่า h-CRP อย่างไรก็ตาม ยังไม่แนะนำให้ใช้ โพรไบโอติกส์ ทดแทนยาแผนปัจจุบันในการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด

ผลต่อสุขภาพจิต

จุลินทรีย์ในลำไส้มีบทบาทสำคัญในการผลิตสารสื่อประสาทและสารประกอบอื่น ๆ ที่มีอิทธิพลต่อการทำงานของสมอง ความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของอารมณ์ และการลดลงของการรับรู้และความเข้าใจ โพรไบโอติกส์ ช่วยคืนความสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ ซึ่งอาจช่วยลดความเครียด และในผู้สูงอายุที่มีภาวะการรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย (Mild Cognitive Impairments: MCI) โพรไบโอติกส์มีผลเพิ่มการทำงานด้านเชาวน์ปัญญาของสมอง (Cognitive Function) และทำให้คุณภาพการนอนหลับดีขึ้น

ผลต่อความเสื่อมของระบบประสาท

โพรไบโอติกส์อาจมีคุณสมบัติในการชะลออาการจากความเสื่อมในระบบประสาท เช่น การสูญเสียการทำงานด้านเชาวน์ปัญญาของสมองและความจำ

ผลต่อการออกกำลังกายในผู้สูงอายุ

โพรไบโอติกส์อาจเพิ่มประสิทธิภาพการออกกำลังกาย ลดการอักเสบที่เกิดจาก การออกกำลังกาย และสนับสนุนการฟื้นตัวหลังการออกกำลังกายได้จะเห็นว่า โพรไบโอติกส์มีประโยชน์มากมาย อย่างไรก็ตาม จากผลการรวบรวมข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับการใช้ โพรไบโอติกส์ ในผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ของนักวิจัยกลุ่มหนึ่ง โดยรวบรวมการศึกษาวิจัยทางคลินิกที่ทำการศึกษาเปรียบเทียบผลของการใช้โพรไบโอติกส์กับยาหลอกในผู้สูงอายุ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 – พ.ศ.2562 จำนวน 17 การศึกษา เพื่อพิสูจน์ว่า โพรไบโอติกส์มีประโยชน์ด้านใด พบว่า โพรไบโอติกส์มีประโยชน์ต่อการปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ และส่งผลให้มีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น

ก่อนใช้โพรไบโอติกส์ แนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ เช่น แพทย์ที่ดูแลท่านเป็นประจำ ก่อนที่จะเริ่มใช้โพรไบโอติกส์หรือสูตรอาหารเสริมใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งแพทย์จะประเมินสภาวะสุขภาพของท่าน รวมทั้งยาประจำตัวที่ท่านใช้อยู่ และให้คำแนะนำเป็นรายบุคคล เพื่อให้แน่ใจว่าการใช้โพรไบโอติกส์ เป็นไปอย่างปลอดภัยและเหมาะสม

เรียบเรียงโดย : รศ. นพ.สัมมน โฉมฉาย
ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ภก. ธนพล นิ่มสมบูรณ์ หัวหน้าหน่วยข้อมูลยาและพิษวิทยา
งานวิชาการเภสัชกรรม ฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลศิริราช
Cr : Gen ยัง active มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล