นอนไม่หลับ
จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกายทั้งระบบภายใน และภายนอกร่างกายทำให้ผู้สูงอายุเกิดปัญหาสุขภาพ และอาจนำไปสู่การเกิดโรคเรื่องรังต่างๆ ตามมา โดยปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นมักส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ดังนั้นการเตรียมความพร้อมในการดูแลผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะดูแล และบรรเทาอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ การนอนหลับ คือการพักผ่อนที่ดีทีสุด และส่งผลต่อสุขภาพช่วยให้สดชื่น สมองปลอดโปร่ง ร่างกายแข็งแรง และสุขภาพจิตดี ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักมีอาการนอนไม่หลับ จึงทำให้เสียสุขภาพจิต อารมณ์รุนแรง ร่างกายทรุดโทรม รู้สึกไม่สดชื่น การนอนไม่หลับเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ดังนี้
– การเปลี่ยนแปลงของสมอง ทำให้หลับไม่ลึก จะหลับๆ ตื่นๆ ช่วงกลางดึก ทำให้รู้สึกว่านอนไม่หลับทั้งคืน – ปัญหาสุขภาพ โรคบางโรคมักแสดงอาการกำเริบในตอนกลางคืน เช่น หอบหืด โรคหัวใจ ทำให้มีอาการหอบ แล้วนอนต่อไม่หลับ
– ปัญหาทางด้านจิตใจ วัยสูงอายุต้องพบเจอปัญหาการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ทำให้เกิดความเครียด เกิดความวิตกกังวล น้อยใจ จนทำให้นอนไม่หลับ บางรายเป็นโรคซึมเศร้าได้
– ยาและสารกระตุ้นประสาท เช่น ยารักษาโรคความดัน ยาขยายหลอดลม หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ สารเหล่านี้จะทำให้ผู้สูงอายุนอนหลับยาก
การดูแล
– แนะนำให้ผู้สูงอายุเข้านอน และตื่นให้เป็นเวลา และไม่เข้านอนเร็วจนเกินไป เวลานอนที่เหมาะสม คือ ช่วง 3-4 ทุ่ม และตื่นนอนตี 4 – ตี 5
– หลีกเลี่ยงการนอนกลางวัน โดยเฉพาะนอนหลังบ่ายสามโมงเย็น ควรหากิจกรรมเบาๆ ทำแก้ง่วง
– งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และชา กาแฟ ในตอนเย็น
– ไม่ดื่มน้ำในช่วง 4-5 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เพราะจะตื่นมาปัสสาวะบ่อย
– ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมยามว่าง เช่น รดน้ำต้นไม้ เป็นต้น
– ความรับประทานมื้อเย็นเป็นเวลา โดยกำหนดเวลาที่ชัดเจน และไม่รับประทานมากจนเกินไป
– จัดสภาพแวดล้อมการนอนที่ดี มืด เงียบสงบ และอากาศถ่ายเทได้สะดวก
– สวดมนต์ก่อนเข้านอน อ่านหนังสือ เพื่อให้จิตใจสงบ มีสมาธิ
เวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม
เป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ อาการมักเป็นๆ หายๆ บางครั้งอาจจะมีอาการบ้านหมุน คลื่นไส้อาเจียน เหงื่อออก สาเหตุอาจเกิดจากโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง ทำให้เลือดในร่างกายไหลเวียนไม่ดี หรือน้ำในหูไม่เท่ากัน การที่กล้ามเนื้อลูกตาเสื่อมการพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือการเปลี่ยนท่าอย่างกระทันหัน อาจะทำให้เกิดอาการหน้ามืดได้
การดูแล
– ดูแลให้ผู้สูงอายุลุก – นั่ง เปลี่ยนท่าทางช้าๆ และให้ผู้สูงอายุนอนหรือนั่งในท่าที่สบาย
– หาเวลาฝึกบริหารกล้ามเนื้อลูกตา
– ผู้สูงอายุที่หน้ามืดเป็นลมบ่อยๆ ให้ดื่มน้ำมากขึ้น เพื่อให้เลือดไม่หนืด ไหลเวียนได้สะดวกมากขึ้น
– ให้รับประทานยาหอม หรือแก้เวียนศีรษะ
เบื่ออาหาร
อาการเบื่ออาหารทำให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารได้น้อยลง หรือบางครั้งไม่อยากรับประทานอะไรเลย ซึ่งผลเสียต่อสุขภาพผู้สูงอายุ ทำให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เกิดอาการอ่อนเพลีย และอาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันลดลง ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อหรือเจ็บป่วยได้ง่าย สาเหตุของอาการเบื่ออาหาร ได้แก่ ประสาทสัมผัสการรับรสชาติ การรับกลิ่นลดลง ทำให้รู้สึกไม่ได้กลิ่นหอมของอาหาร รับประทานไปแล้วอาหารไม่อร่อย มีแผลในช่องปาก ปวดฟัน ทำให้มีปัญหาในการบดเคี้ยวอาหาร บางรายเคยทำอาหารได้อร่อย แต่เมื่อประสาทสัมผัสการรับรสชาติอาหารเสียไป ทำให้ปรุงอาหารหวาน หรือเค็มจนเกินไป ลูกหลานอาจบ่นว่าอาหารไม่อร่อย ทำให้ผู้สูงอายุเกิดความไม่มั่นใจ หมดกำลังใจในการทำอาหารและเบื่ออาหารได้ เกิดความวิตกกังวลเรื่องการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิด ทำให้ไม่สบายใจและรับประทานอาหารได้น้อย
การดูแล
– ทุกคนในครอบครัวควรมีส่วนช่วยในการกระตุ้นความอยากอาหารของผู้สูงอายุ โดยการจัดเตรียมอาหารเมนูใหม่ๆ ไม่ซ้ำซากจำเจ หรือทำอาหารร่วมกัน
– เปลี่ยนบรรยากาศในการรับประทานอาหาร โดยสมาชิกในครอบครัวชวนท่านรับประทานอาหารร่วมกัน ผู้สูงอายุจะดีใจและรับประทานอาหารได้มากขึ้น
– หาเวลาพาท่านออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านบ้าง เพื่อเปลี่ยนประสบการณ์ใหม่ๆ ทั้งสถานที่ และรสชาติของอาหาร
ปวดข้อเข่า
สาเหตุเกิดจากการสลายตัว และการสึกกร่อนของกระดูกอ่อนผิวข้อ ทำให้กระดูกอ่อนผิวข้อบางลงจนเกิดการเสียดสีกับกระดูกแข็ง ทำให้เกิดอาการปวด บวม อักเสบ และไม่สามารถใช้งานได้ในที่สุด ดังนั้นผู้สูงอายุจะมีอาการปวดเข่าเวลาเดินหรือเคลื่อนไหว หรือตอนลุกนั่งอาจปวดข้อ อาจมากจนเดินอย่างปกติไม่ได้ ต้องเดินโยกตัว
การดูแล
– ผู้สูงอายุควรควบคุมน้ำหนักตัวให้พอเหมาะ เพื่อลดภาระของการรับน้ำหนักตัวและออกกำลังกายสม่ำเสมอ
– หลีกเลี่ยงการใช้งานข้อเข่าหนักๆ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการเดินขึ้น
– ลงบันได ไม่นั่งพับเพียบเป็นเวลานาน ๆ และควรนั่งบนเก้าอี้
– ควรช่วยประคองผู้สูงอายุเวลาลุกนั่ง หรือเดิน
– แนะนำให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม น้ำเต้าหู้ ปลาเล็กปลาน้อย ผักใบเขียว เพื่อเสริมสร้างให้กระดูกแข็งแรง
– หากมีอาการมาก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา
ความจำบกพร่อง
เป็นภาวะที่สมองถดถอยในการทำงานด้านใดด้านหนึ่ง เช่น ด้านความจำ ด้านภาษา ด้านความคิด และด้านสมาธิ โดยอาการแสดงจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ใช้เวลานานเป็น 10 ปี แต่เมื่ออาการเริ่มเป็นมากขึ้น จะแสดงออกในเรื่องของการหลงลืม จำไม่ได้จนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้
สัญญาณที่บ่งบอกว่าผู้สูงอายุอาจจะเข้าสู่ภาวะสมองเสื่อม
- สูญเสียความทรงจำในระยะสั้นที่กระทบต่อการทำงาน
- ส่ิงที่เคยทำเป็นประจำเริ่มจำทำไม่เป็น เช่น หวีผมไม่ได้ ติดกระดุมเสื้อไม่ได้
- ปัญหาด้านภาษา เลือกคำพูดไม่ค่อยถูก เช่น ลืมคำศัพท์ง่ายๆ
- ไม่รู้เวลาและสถานที่ เช่น หลงวันเวลา กลับบ้านไม่ถูก
- สูญเสียการตัดสินใจ เช่น เปิดพัดลมแรงๆ ทั้งๆ ที่อากาศหนาว
- ไม่ค่อยเข้าใจความคิดที่เป็นนามธรรม
- วางของผิดที่แบบแปลกๆ เช่น เก็บเตารีดในตู้เย็น
- อารมณ์ หรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงในเวลาไม่นาน
- บุคลิภาพเปลี่ยนแปลง เช่น กลายเป็นคนช่างสงสัย หรือหวาดกลัวมากกว่าเดิม
- สูญเสียความคิดริเริ่ม
เมื่อสงสัยว่า ผู้สูงอายุในครอบครัวมีอาการผิดปกติเหล่านี้ ควรรีบพาไปปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจและประเมินอาการให้แน่ชัด
การดูแล
– ดูแลให้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ได้แก่ ปลาทะเลน้ำลึก เช่น ปลาแซลมอน นมถั่วเหลือง ข้าวกล้อง ผัก ผลไม้ ธัญพืชต่างๆ
– หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเค็มจัด หวานจัด และหลีกเลี่ยงชา กาแฟ รวมทั้งงดสูบบุหรี่ และงดดื่มแอลกอฮอล์
– นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อไม่ให้สมองทำงานหนัก หรือเหนื่อยล้าเกินไป
– ให้ผู้สูงอายุเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมเพื่อกระตุ้นความตื่นตัวของสมองในการได้ทดลองประสบการณ์ใหม่ๆ เช่น ร้องเพลง เล่นเกม เต้นรำ เป็นต้น
– แนะนำให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น ว่ายน้ำ เดินเร็ว เป็นต้น
– หากิจกรรมให้ผู้สูงอายุทำยามว่าง เช่น รดน้ำต้นไม้ พรวนดิน ทำสวน เป็นต้น
– ดูแลผู้สูงอายุด้วยความรัก ความเอาใจใส่ ดูแลด้วยคววามเข้าใจ ทำให้ผู้สูงอายุเกิดความสบายใจ และไม่เครียด
– ฝึกให้ผู้สูงอายุบริหารสมองอย่างสม่ำเสมอ เช่น การบวกเลข เป็นต้น
กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
มักเกิดในผู้สูงอายุเพศหญิงมากกว่าเพศชาย นอกจากจะมีผลกระทบทางร่างกายแล้ว ยังส่งผลให้ผู้สูงอายุนั้นขาดความมั่นใจที่จะออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน เพราะกลัวปวดปัสสาวะบ่อย แล้วหาห้องน้ำไม่ได้ อาจทำให้ปัสสาวะราดได้ ซึ่งสาเหตุเกิดจากการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ และกล้ามเนื้อหูรูดเริ่มเสื่อมสภาพ บางรายอาจมีการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะบ่อยเกินไปโดยไม่สามารถควบคุมได้ หรือเกิดจากการรับประทานยาที่มีผลต่อการขับปัสสาวะ ส่งผลให้เกิดความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันและการเข้าสังคม
การดูแล
– แนะนำให้ผู้สูงอายุฝึกขมิบกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน โดยขมิบครั้งละ 10 วินาที วันละ 50-100 ครั้ง หรือมากกว่านี้ถ้าสามารถทำได้ เพื่อให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่อ่อนแอแข็งแรงขึ้น และจะช่วยให้ควบคุมกระเพาะปัสสาวะได้ดีขึ้น
– แนะนำผู้สูงอายุไม่ให้กลั้นปัสสาวะนานๆ ในรายที่กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ให้ใช้วิธีการเข้าห้องน้ำทุก 2 ชั่วโมง โดยไม่ต้องรอให้ปวดปัสสาวะก่อน
– งดการดื่มชา กาแฟ และไม่ควรดื่มน้ำในปริมาณมากจนเกินไป
ท้องผูก
ในช่วงวัยสูงอายุนั้น มักมีปัญหาในการขับถ่าย หากผู้สูงอายุเริ่มถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ปวดท้องอยากถ่ายแต่ถ่ายไม่ออก ใช้เวลาในการเบ่งถ่ายนาน อุจจาระแข็ง นั่นเป็นสัญญาณที่แสดงว่าผู้สูงอายุเริ่มมีอาการท้องผูก ในบางรายที่อาการท้องผูกรุนแรงอาจเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งลำไส้ ลำไส้อักเสบ หรือลำไส้อุดตันได้ โดยสาเหตุของอาการท้องผูกมีหลายสาเหตุ ได้แก่
– การรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย
– ดื่มน้ำน้อย เนื่องจากกลัวปวดปัสสาวะบ่อย และกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ แต่เมื่อร่างกายขาดน้ำจะมีกลไกดูดน้ำกลับจากอุจจาระ ทำให้อุจจาระแข็งและถ่ายยาก
– ขาดการออกกำลังกาย ลำไส้ไม่เคลื่อนไหว การบีบตัวของลำไส้ลดลง กล้ามเนื้อหน้าท้องอ่อนแรง จึงไม่มีแรงเบ่งอุจจาระ
– ความเครียด ทำให้ร่างกายลดการหลั่งน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ทำให้ย่อยอาหารไม่ดี
– ผลข้างเคียงของยาบางชนิด ทำให้ผู้สูงอายุมีอาการท้องผูกได้
การดูแล
– ให้ผู้สูงอายุฝึกขับถ่ายอย่างเป็นเวลา
– จัดเตรียมอาหารที่มีกากใยสูงให้ผู้สูงอายุรับประทาน
– ดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน พยายามเคี้ยวอาหารอย่างช้าๆ
– ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว
– พยายามเคลื่อนไหวร่างกายเสมอ ความหมั่นลุกเดิน หรือทำกิจกรรมต่างๆให้ร่างกายได้เคลื่อนไหว
– ไม่กลั้นอุจจาระ เมื่อรู้สึกปวดควรรีบไปเข้าห้องน้ำทันที
– หากมีอาการท้องผูก ควรไปปรึกษาแพทย์ และไม่ควรซื้อยารับประทานเอง
– สังเกตอาการท้องผูกที่มีผลข้างเคียงที่เกิดจากยา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อแก้ไขปัญหา
การเลือกใช้บริการผู้ดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคนอยู่เป็นเพื่อน ช่วยกระตุ้นให้ทำกิจกรรมต่างๆ หรือคอยเตือนให้ทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ อย่างเหมาะสมในระหว่างวันที่คนในครอบครัวต้องออกไปทำหน้าที่ของตัวเอง เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการช่วยให้ผู้สูงอายุไม่ต้องอยู่เพียงลำพังในบ้าน และยังช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดได้อีกด้วยนะคะ การเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกาย ทั้งระบบภายในและภายนอกร่างกายทำให้ผู้สูงอายุเกิดปัญหาสุขภาพ ที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ ตามมาได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นมักส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้และเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ก็จะช่วยให้สามารถดูแลผู้สูงอายุได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและบรรเทาอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้ลดลง คงความสามารถในการปฎิบัติกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุได้นานยิ่งขึ้น ทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข