บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เท่านั้น ทางบริษัทไม่สามารถให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลได้ หากท่านมีความกังวล และต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
สำหรับผู้ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ต้องอาศัยทั้งแรงกายและแรงใจในการดูแลผู้ป่วย เพราะโรคอัลไซเมอร์ไม่ใช่เพียงแค่อาการหลงลืมเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงอารมณ์และพฤติกรรมของผู้ป่วย ที่กระทบต่อทั้งตัวผู้ป่วยเองและคนรอบข้าง บทความนี้จะกล่าวถึงปัญหา “ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ไม่ยอมนอน” ซึ่งเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ที่ผู้ดูแลหลายคนพบเจอ โดยบทความนี้จะชี้ให้เห็นถึงสาเหตุและวิธีรับมือกับอาการเหล่านี้ค่ะ
- ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ไม่ยอมนอน เป็นเพราะอะไร?
- ถ้าผู้ป่วยอัลไซเมอร์ไม่ยอมนอน หรือตื่นกลางดึก ต้องทำอย่างไร?
- แก้ปัญหาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ไม่ยอมนอน โดยไม่ใช้ยา
- เลือกเตียงอย่างไร ให้เหมาะสมกับ “ผู้ป่วยอัลไซเมอร์”
ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ไม่ยอมนอน เป็นเพราะอะไร?
อัลไซเมอร์ คือภาวะสมองเสื่อมประเภทหนึ่ง โดยผู้ป่วยอัลไซเมอร์ส่วนใหญ่ มักมีปัญหาไม่ยอมนอนหรือนอนไม่หลับเป็นประจำ จากการสำรวจพบว่า ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมที่มีอาการเริ่มต้นถึงปานกลาง มีปัญหาไม่ยอมนอนมากถึง 25% และอีก 50% เป็นผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมขั้นรุนแรง (ข้อมูลจากโรงพยาบาล Mayo Clinic, ประเทศสหรัฐอเมริกา)
สาเหตุของการที่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ไม่ยอมนอนในเวลากลางคืนนั้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็ยังไม่สามารถการันตีได้แน่นอนว่าเกิดจากอะไร แต่เชื่อว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงงของสมองซึ่งเกิดมาจากโรคอัลไซเมอร์หรือภาวะสมองเสื่อม อีกทั้งผู้ป่วยอัลไซเมอร์ส่วนใหญ่จะมีนาฬิกาชีวิต (วงจรที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย) เปลี่ยนแปลงไป ทำให้กินหรือนอนไม่เป็นเวลาที่ควรจะเป็น รวมทั้งปัจจัยอื่น ๆ ดังนี้
ปัจจัยด้านโรคบางอย่างที่ทำให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ไม่ยอมนอน
- อาการซันดาวน์ (Sundown Syndrome) : เป็นพฤติกรรมที่มักเกิดในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์หรือภาวะสมองเสื่อม โดยผู้ป่วยจะนอนมากในช่วงกลางวันหรือบ่าย พอตกช่วงเย็นหรือค่ำๆ (พระอาทิตย์ใกล้ตกดินดิน) ผู้ป่วยจะแสดงอาการก้าวร้าว อาละวาด หรือวิตกกังวล จนในที่สุดช่วงกลางดึก ผู้ป่วยก็จะไม่ยอมนอน
- ภาวะซึมเศร้า (Depression) : มีความรุนแรงน้อยกว่าโรคซึมเศร้าทั่วไป เป็นอีกหนึ่งภาวะที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ถึง 40% เนื่องจากความผิดปกติของสมองและอารมณ์ โดยผู้ป่วยจะมีอาการเศร้า ร้องไห้ สิ้นหวัง แต่จะมีอาการเป็น ๆ หายๆ ซึ่งอารมณ์ที่ไม่คงที่นี้ มักส่งผลทำให้ผู้ป่วยนอนไม่หลับ
- โรคนอนไม่หลับ (Insomnia) : เป็นโรคที่มีความเชื่อมโยงกับโรคอัลไซเมอร์หรือภาวะสมองเสื่อม เนื่องจากโรคส่งผลให้สมองทำงานผิดปกติ ส่งผลทำให้การนอนหลับผิดปกติ รวมทั้งยารักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์บางชนิด ก็มีผลต่อการนอนหลับของผู้ป่วยเช่นกัน โดยโรคนอนไม่หลับพบในผู้ป่วยอัลไซเมอร์และสมองเสื่อมมากถึง 25-33%
- โรคขาอยู่ไม่สุข (Restless Legs Syndrome) : ผู้ป่วยโรคนี้จะรู้สึกเหมือนมีอะไรไต่ขาจนต้องขยับขาตลอด หรือมีอาการขากระตุก โดยผู้ที่มีอาการโรคนี้มักจะนอนไม่หลับ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยอัลไซเมอร์
ปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ไม่ยอมนอน
- ในช่วงระหว่างวันผู้ป่วยไม่ค่อยได้ทำกิจกรรม หรือออกจากบ้าน
- ผู้ป่วยไม่สบายตัวหรือเจ็บป่วยด้วยอาการบางอย่าง
- ผู้ป่วยทำกิจวัตรต่างๆ ไม่เป็นเวลาที่แน่นอน
- ภายในห้องนอนมืดเกินไป จนทำให้ผู้ป่วยเห็นเงาหรือภาพหลอน
ถ้าผู้ป่วยอัลไซเมอร์ไม่ยอมนอน หรือตื่นกลางดึก ต้องทำอย่างไร? ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ไม่ยอมนอน นอนไม่หลับ หรือนอนแล้วตื่นกลางดึก เป็นปัญหาที่ผู้ดูแลหลายคนมักพบเจอ อีกทั้งในเวลากลางดึกผู้ป่วยก็มักมีอาการเห็นภาพหลอน วิตกกังวลว่าจะมีใครมาทำร้าย หรือกระสับกระส่ายลุกเดินไปเดินมา ซึ่งในช่วงกลางดึกก็เป็นเวลาที่ผู้ดูแลเองก็ต้องการการพักผ่อนเช่นกัน จึงทำให้ผู้ดูแลหลายคนก็เกิดความเครียด ท้อแท้ และสุขภาพแย่ลงตามมาด้วย
How to รับมือผู้ป่วยอัลไซเมอร์ไม่ยอมนอน
1. ผู้ดูแลต้องพยายามใจเย็น ไม่หงุดหงิด และไม่ดุด่าหรือเถียงผู้ป่วย เพราะจะทำให้ผู้ป่วยยิ่งหงุดหงิดและอาละวาดเพิ่มมากขึ้น
2. ให้ถามผู้ป่วยอย่างใจเย็นว่าเกิดอะไรขึ้น ต้องการอะไร เจ็บปวดไม่สบายตรงไหนหรือเปล่า เช่น ผู้ป่วยปวดปัสสาวะ หรือห้องนอนร้อนไปหรือเย็นไปหรือเปล่า แล้วพยายามแก้ปัญหานั้นๆ ให้ผู้ป่วย
3. พยายามปลอบผู้ป่วยให้สงบอย่างใจเย็น หากผู้ป่วยจะเดินไปไหนให้ปล่อยผู้ป่วยเดินตามต้องการ โดยผู้ดูแลต้องเดินตามไปดูแลด้วย อย่าพยายามห้ามผู้ป่วย (ถ้าไม่ใช่ที่อันตราย) เพราะจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยอาละวาดและต่อต้าน
4. เมื่อสามารถแก้ปัญหาหรือทำความต้องการของผู้ป่วยได้ ให้พยายามพาผู้ป่วยกลับเข้านอน โดยเตือนให้ผู้ป่วยรู้อย่างใจเย็นว่า นี่เป็นเวลาดึกแล้วและถึงเวลาต้องนอนแล้ว
5. หากเป็นไปได้ ให้สมาชิกคนอื่นๆ สับเปลี่ยนกันมาดูแลผู้ป่วย หรือการใช้บริการผู้ดูแลผู้ป่วย ผู้สูงอายุที่ดูบ้าน เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือ ผู้ดูแลต้องพักผ่อนให้เพียงพอด้วย เพราะการดูแลผู้ป่วยจำเป็นจะต้องใช้ทั้งแรงกายและแรงใจมาก
แก้ปัญหาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ไม่ยอมนอน โดยไม่ใช้ยา
การรักษาหรือแก้ปัญหาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ไม่ยอมนอน มีทั้งวิธีที่ทั้งใช้ยาและไม่ใช้ยา แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคอัลไซเมอร์ และสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) แนะนำให้ผู้ดูแลแก้ปัญหาด้วยวิธีไม่ใช้ยามากกว่า เพราะการใช้ยานอนหลับในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการนอนอย่างยั่งยืน แถมยังทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพที่ไม่ดี หกล้มหรือเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย อีกทั้งยังเสี่ยงต่อเกิดโรคอื่นๆ ตามมาอีกด้วย
วิธีแก้ปัญหาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ไม่ยอมนอน โดยไม่ใช้ยา
- ให้ผู้ป่วยกินอาหาร เข้านอน ตื่น และทำกิจวัตรต่างๆ เป็นเวลาที่แน่นอน
- ตอนเช้าควรให้ผู้ป่วยออกไปรับแสงแดด เพื่อกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนเมลาโทนิน ที่ช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น และยังทำให้ผู้ป่วยรับรู้ว่าเรื่องเวลา ช่วยปรับวงจรการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายให้เป็นปกติขึ้น
- รักษาอาการเจ็บป่วยที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สบายตัวจนนอนไม่หลับ
- หากผู้ป่วยยังมีสุขภาพร่างกายที่ปกติ พยายามอย่าให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมต่างๆ บนเตียง ให้ใช้เตียงเป็นพื้นที่สำหรับการนอนเท่านั้น
- ให้ผู้ป่วยออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน และห้ามให้ผู้ป่วยดื่มแอลกอฮอล์ ชา-กาแฟ และสูบบุหรี่
- พยายามอย่าให้ผู้ป่วยนอนกลางวันหรือบ่าย หากจำเป็นควรให้นอนช่วงกลางวันไม่เกิน 30 นาที เพราะจะทำให้กลางคืนนอนไม่หลับ
- ทำกิจกรรมผ่อนคลายในช่วงเย็น เพื่อให้ผู้ป่วยอารมณ์สงบและผ่อนคลาย ด้วยการเปิดเพลงเบาๆ อ่านหนังสือ หรือใช้เวลากับสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
- ไม่ควรให้ผู้ป่วยดูโทรทัศน์ก่อนนอน
- จัดห้องนอนให้เหมาะสำหรับการนอนที่สบาย ให้อุณหภูมิในห้องไม่หนาวหรือร้อนเกินไป เปิดโคมไฟ หรือจัดไฟใต้เตียง เพื่อผู้ป่วยจะได้ไม่รู้สึกกลัว กังวล หรือเห็นภาพหลอน และยังช่วยป้องกันผู้ป่วยชนสิ่งของหรือเกิดอันตรายเวลาลุกเดินไปเข้าห้องน้ำอีกด้วย
ลองใช้วิธีข้างต้นในการค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วยนะคะ หากลองทำไปสักระยะแล้วผู้ป่วยไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น หรือรุนแรงขึ้นกว่าเดิม ให้ลองปรึกษาแพทย์ผู้รักษาดูค่ะ แพทย์อาจพิจารณาลดการใช้ยารักษาอัลไซเมอร์บางตัว เพราะจะมียาบางประเภทที่ส่งผลให้นอนไม่หลับ หรืออาจพิจารณาจ่ายยานอนหลับให้ สิ่งสำคัญ ผู้ดูแลห้ามซื้อยานอนหลับหรือลดการใช้ยาด้วยตัวเอง โดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะจะทำให้ผู้ป่วยอาการแย่ลงหรือเกิดอันตรายได้
เลือกเตียงอย่างไร ให้เหมาะสมกับ “ผู้ป่วยอัลไซเมอร์”
สาเหตุที่ผู้ดูแลต้องเอาใจใส่เรื่องเตียงผู้ป่วยเป็นพิเศษนั้น เพราะผู้ป่วยอัลไซเมอร์ มักจะชอบลุกหนีจากเตียงหรือปีนป่าย และมีโอกาสพลัดตกเตียงสูงกว่าผู้ป่วยทั่วไป ดังนั้น ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ จึงไม่ควรใช้เตียงนอนแบบคนทั่วไป หรือเป็นเตียงที่ไม่มีมาตรฐาน เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายได้ ผู้ดูแลจำเป็นจะต้องเลือกเตียงที่เหมาะสม โดยพิจารณาข้อมูลต่างๆ ดังนี้
วิธีเลือกเตียงสำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์
- สำคัญที่สุด คือ ต้องเลือกเตียงผู้ป่วยที่สามารถปรับระดับสูง-ต่ำได้ ยิ่งต่ำได้มากยิ่งดี ซึงเป็นวิธีป้องกันผู้ป่วยบาดเจ็บจากการผลัดตกเตียง หรือกระโดดลงจากเตียงโดยผู้ดูแลไม่รู้ตัวได้ดีที่สุด
- เตียงผู้ป่วยควรมีราวกั้นเตียง เพื่อป้องกันผู้ป่วยนอนพลัดตกเตียง แต่จำเป็นต้องเลือกราวกั้นเตียงที่มีมาตรฐาน เพื่อป้องกันอวัยวะของผู้ป่วยเข้าไปติด
- มีช่องว่างของราว น้อยกว่า 12 เซนติเมตร
- ความสูงเมื่อวัดจากฟูก มากกว่า 22 เซนติเมตร
- ระยะห่างของปลายราวกั้นเตียงถึงปลายเตียง ควรน้อยกว่า 6 เซนติเมตร หรือมากกว่า 23.5 เซนติเมตร
- ระยะห่างของราวกั้นเตียงแต่ละชิ้น (กรณีเป็นราวแบบ 2 ตอน) ควรน้อยกว่า 6 เซนติเมตร หรือมากกว่า 23.5 เซนติเมตร
- ความสูงจากพื้นเตียงถึงขอบราวกั้นเตียงด้านล่าง น้อยกว่า 6 เซนติเมตร
- ความยาวของราวกั้นเตียง ควรยาวเกินครึ่งหนึ่งของความยาวเตียง
- เลือกเตียงผู้ป่วยที่ดีไซน์อบอุ่น เหมือนเตียงนอนทั่วๆ ไป จะช่วยทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกหดหู่ แปลกแยก หวาดกลัว หรือเหมือนถูกกังขังเหมือนเตียงโรงพยาบาล
ถ้าเป็นไปได้ควรใช้ที่นอนโฟมป้องกันแผลกดทับควบคู่ไปด้วย เพราะผู้ป่วยอัลไซเมอร์อาจเกิดแผลกดทับได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยอัลไซเมอร์ระยะสุดท้าย
สรุป การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์นั้น ผู้ดูแลต้องอาศัยทั้งแรงกายและแรงใจเป็นอย่างมาก ปัญหาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ไม่ยอมนอน เป็นปัญหาที่ผู้ดูแลต้องเจอบ่อยๆ นอกจากจะทำให้ผู้ป่วยนั้นเสียสุขภาพและอาจเกิดอันตรายได้แล้ว ยังทำให้ผู้ดูแลนั้นเครียดและพักผ่อนไม่เพียงพอด้วย อย่างไรก็ตาม หากอาการไม่ยอมนอนของผู้ป่วยไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีข้างต้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันทีนะคะ
Cr : ALLWELLHEALTHCARE