ในปัจจุบันด้วยรูปแบบการใช้ชีวิตในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้สูงอายุหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ทั้งในด้านของการออกกำลังกาย การทานอาหารเพื่อสุขภาพ และมีผู้สูงอายุหลายท่านหันมาบริโภคอาหารเสริม เห็นได้จากการเติบโตของธุรกิจอาหารเสริม รวมถึงโฆษณาชวนเชื่อจากแบรนด์อาหารเสริมต่างๆ ที่พบเห็นได้ทั้งทางโทรทัศน์ วิทยุ โซเชียลมีเดีย การรีวิวสินค้าจากเหล่าคนดัง หรือการชักชวนให้ซื้อผลิตภัณฑ์จากกลุ่มเพื่อนๆ ทำให้ผู้สูงอายุหลายท่านเกิดความสนใจ และเลือกอาหารเสริมเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพของตัวเอง
ทั้งนี้ หากเลือกทานอาหารเสริมที่ไม่ตรงกับความต้องการของร่างกาย หรือทานต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี อาจก่อให้เกิดผลเสียกับร่างกายมากกว่าจะได้รับประโยชน์ต่อสุขภาพ เราจึงควรให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ให้คำแนะนำในการบริโภคอาหารเสริมสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อให้ท่านมีข้อมูลในการตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง ไม่หลงเชื่อโฆษณาจากแบรนด์ต่างๆโดยง่าย
ศูนย์จัดส่งผู้ดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน อิ่มกมล แคร์ แอท โฮม ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ที่บ้านขอแนะนำข้อมูลหลักๆ ที่ผู้สูงอายุควรทราบ เพื่อตัดสินใจซื้อ อาหารเสริมแต่ละประเภทนั้น ต้องดูตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ที่เราจะบริโภคว่า เป็นอาหารเสริมประเภทไหน? มีสารอะไรเป็นส่วนประกอบสำคัญบ้าง? ซึ่งส่วนประกอบหลักในอาหารเสริม ส่วนใหญ่มักจะมีวิตามิน กรดอะมิโน กรดไขมัน แร่ธาตุ สารสกัดจากพืชและสัตว์ เป็นส่วนประกอบสำคัญของผลิตภัณฑ์นั้น
นอกจากนี้ ยังมีสารเข้มข้นต่างๆ ได้แก่ สารเมตาโบไลท์ สารสกัดจากสมุนไพร สารสังเคราะห์เลียนแบบมาเป็นส่วนประกอบสำคัญในผลิตภัณฑ์ รูปแบบก็มีหลากหลายทั้ง เม็ด แคปซูล ผง เกล็ด ของเหลว หรือประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่ในรูปแบบอาหารตามปกติ เพื่อให้รับประทานได้ง่ายขึ้น ซึ่งแบรนด์อาหารเสริมเหล่านี้ มักมีการโฆษณาชวนเชื่อในด้านของสรรพคุณว่าช่วยให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นได้
แต่ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดไหน ก็ต้องผ่านการตรวจสอบ และควบคุมส่วนประกอบตามที่กฎหมายระบุทั้งหมด เช่น ปริมาณของจุลินทรีย์ ปริมาณสารพิษตกค้าง ปริมาณวิตามินและแร่ธาตุ ที่ไม่เกินความต้องการของร่างกาย ตลอดจนถึงการใช้ภาชนะที่ได้มาตรฐานมาบรรจุ อาหารเสริม และติดฉลากของผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังต้องได้รับการอนุมัติและขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้ปลอดภัยต่อผู้บริโภคจริงๆ
ในฐานะที่เราเป็นผู้บริโภค จึงควรทราบข้อมูลบนฉลากอาหารเสริม ดังนี้
- ชื่ออาหาร
- เลขที่ผลิตภัณฑ์
- ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต หรือผู้นำเข้า
- ชื่อและปริมาณของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่บรรจุ
- ชื่อและปริมาณของส่วนประกอบสำคัญของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และส่วนประกอบที่มีการกล่าวอ้างสรรพคุณ
- มีข้อความชัดเจนว่า “การได้รับสารอาหารต่างๆ นั้น ควรได้จากการบริโภคอาหารหลักที่หลากชนิด ครบทั้ง 5 หมู่ และเป็นสัดส่วนที่พอเหมาะ”
โดยเราจะต้องดูว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแบรนด์นั้น มีการระบุคำแนะนำ วิธีการบริโภค วันที่ผลิต และวันหมดอายุ คำเตือนการบริโภค กำหนดไว้อย่างถูกต้องหรือไม่ เพื่อป้องกันอาการแพ้ยา หรือเกิดผลเสียต่อสุขภาพของเราในระยะยาวนั่นเอง
4 ขั้นตอนในการเลือกซื้ออาหารเสริมให้ปลอดภัยมากที่สุด
1. เช็คให้แน่ใจก่อนว่า อาหารเสริมอาหารจำเป็นต่อสุขภาพของเราหรือไม่
เพราะการทานอาหารเสริมนั้น เป็นเพียงการเพิ่มสารอาหารให้กับร่างกาย แต่ไม่สามารถทานแทนอาหารมื้อหลักได้ เมื่อเราคำนวนแล้ว หากพบว่าร่างกายได้รับสารอาหารที่เพียงพอในแต่ละวัน ก็ไม่มีความจำเป็นในการบริโภคอาหารเสริมเลย เพราะหากผู้สูงอายุได้รับสารอาหารเกินความจำเป็นของร่างกาย โดยเฉพาะสารสกัดเข้มข้นที่มีฤทธิ์ต่างๆ อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพอันตรายจนถึงชีวิตได้
2. อาหารเสริม มีประโยชน์จริงหรือไม่
แม้เราจะได้ยินมาว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหลายแบรนด์ อ้างว่าสามารถบรรเทาอาการปวด รักษาโรค บำบัดโรคมะเร็งได้ แต่ในความเป็นจริงนั้น อาหารเสริมเหล่านี้ไม่มีผลในการรักษาทางการแพทย์เลย หากผู้สูงอายุได้รับข้อมูลนอกเหนือจากที่ระบุข้างฉลาก สามารถสอบถามสายด่วน อย. (เบอร์โทรศัพท์ 1556) หรือสอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อดูว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารปลอดภัยหรือไม่
3. อาหารเสริม มีความปลอดภัยหรือไม่
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มีผลข้างเคียงต่อสุขภาพ หรือก่อให้เกิดอาการแพ้ยาได้เช่นเดียวกับยารักษาโรคทั่วไป เราสามารถสังเกตได้จากประโยค “เด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน” ที่ระบุบนฉลากผลิตภัณฑ์
4. อาหารเสริม มีราคาเหมาะสมไหม
เมื่อพิจารณาจากประโยชน์และความจำเป็นในการบริโภค ที่จะได้รับจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รวมถึงประเมินความเสี่ยงที่อาจได้รับการรับประทานแล้ว สิ่งสุดท้ายที่ผู้สูงอายุควรคำนึงไม่แพ้กัน คือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดนี้ มีความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับคุณภาพที่เราจ่ายไปหรือไม่ โดยผู้สูงอายุสามารถตรวจสอบคุณภาพขอผลิตภัณฑ์ (เลขใบสำคัญ หรือเลขสารบบอาหาร) ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์แบรนด์นี้ ผ่านการรับรองคุณภาพโดย อย. มาแล้วจริงๆ นอกจากนี้ ยังมีวิธีตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแบรนด์นี้ ได้รับอนุญาตจาก อย. จริงหรือไม่ โดยดูได้จาก “ชื่อผลิตภัณฑ์ ชื่อผู้ได้รับอนุญาติ สถานที่ผลิต” เพื่อป้องกันการสวมรอยเลข อย.ปลอม โดยเราสามารถตรวจสอบเลขที่ผลิตภัณฑ์ จากหลายช่องทาง ได้แก่
- สายด่วน อย. โทร 1556
- เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th
- เว็บไซต์ www.oryor.com
- Line : FDAthai
- Oryor Smart Application
Cr : คลินิกผู้สูงวัยสุขภาพดี