11 เคล็ด (ไม่) ลับป้องกันอัลไซเมอร์เพื่อสมองยัง Active

การป้องกันอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ เริ่มง่าย แค่ปรับไลฟ์สไตล์

เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายย่อมเสื่อมลง โดยเฉพาะสมองและความจำ ซึ่งหนึ่งโรคยอดฮิตในผู้สูงอายุคือ โรคอัลไซเมอร์ ที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม และส่งผลกับการใช้ชีวิตประจำวัน แต่นอกจากโรคอัลไซเมอร์แล้ว ภาวะสมองเสื่อมยังมีสาเหตุจากโรคอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น โรคหลอดเลือดสมอง

หากอยากให้สมองยังแอคทีฟ แนะนำให้ชาว Gen ยัง Active ป้องกันอัลไซเมอร์และโรคหลอดเลือดได้ตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อห่างไกลจากภาวะสมองเสื่อมด้วย 11 เคล็ดลับป้องกันอัลไซเมอร์ ที่ทำตามได้ไม่ยาก

  1. ออกกำลังกายแบบแอโรบิกเป็นประจำ
    การออกกำลังกายที่แนะนำสำหรับผู้สูงอายุ เช่น เดินเร็ว วิ่ง ว่ายน้ำ เป็นเวลา 30-50 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง ซึ่งควรเริ่มทำตั้งแต่วัยกลางคนก่อนเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ จากการศึกษาพบว่าผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ จะมีสมรรถภาพการทำงานของสมองดีกว่าผู้ที่ไม่ออกกำลังกายเลย เพราะการออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจและระบบการไหลเวียนโลหิต ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น
  2. เลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม
    อาหารที่ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยง คือ อาหารมันจัด โดยเฉพาะอาหารจากไขมันอิ่มตัว แล้วหันมารับประทานอาหารบำรุงสมอง ได้แก่ ผัก ผลไม้ ถั่วเปลือกแข็ง ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี และปลาที่อุดมไปด้วยวิตามินและเกลือแร่สำหรับบำรุงสมอง
  3. นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ
    ผู้สูงอายุควรนอนวันละ 7-8 ชั่วโมง เพราะการพักผ่อนที่เพียงพอ จะช่วยให้สมองสามารถจัดเก็บความจำเป็นระบบ และพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ รวมถึงการนำความจำเก่ากลับมาใช้ มีสมาธิมากขึ้น สมองปลอดโปร่ง ทำให้คิดวิเคราะห์ ตัดสินใจ และแก้ไขปัญหาได้ดี ส่วนผู้ที่มีปัญหาด้านการนอนหลับควรรีบได้รับการแก้ไข เช่น ผู้ที่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจในระหว่างการนอน เนื่องจากคุณภาพการนอนที่แย่จะส่งผลเสียต่อสมอง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อม
  4. ทำกิจกรรมเสริมการเรียนรู้
    ฝึกสมอง การคิดอ่าน และความจำ ด้วยกิจกรรมผู้สูงอายุที่ประกอบไปด้วย 5 สิ่งนี้
    1) เป็นกิจกรรมที่ชอบ
    2) เป็นกิจกรรมที่ได้ออกกำลังกายไปในตัว
    3) เป็นกิจกรรมที่ได้ทำร่วมกับผู้อื่น
    4) เป็นกิจกรรมที่ได้ทำเป็นประจำ
    5) เป็นกิจกรรมที่ได้ฝึกสมอง
    โดยกิจกรรมที่อยากแนะนำ คือ เต้นลีลาศ เต้นแอโรบิก รำมวยจีน ร้องคาราโอเกะ เล่นกีฬาเปตอง
  5. เข้าร่วมกิจกรรมกับผู้อื่น
    เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม เช่น ชมรมผู้สูงอายุ หรือกลุ่มคนที่มีความสนใจเดียวกัน เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด พบปะผู้คนใหม่ๆ หรือสานสัมพันธ์กับเพื่อนฝูงที่ห่างหายกันไปนาน
  6. ทำจิตใจให้เบิกบาน
    วัยสูงอายุต้องใส่ใจสุขภาพจิต เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคซึมเศร้า นอนไม่หลับ หรือสมองเสื่อม ดังนั้นควรมองชีวิตในแง่ดี หางานอดิเรกที่ช่วยให้เพลิดเพลิน สบายใจ ผ่อนคลาย มีความสุข และมีคุณค่าทางจิตใจ เช่น ปลูกต้นไม้ ทำอาหาร เดินทางท่องเที่ยว
  7. ควบคุมน้ำหนักตัว
    ผู้สูงอายุควรดูแลเรื่องอาหารการกินและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยควบคุมน้ำหนักให้มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ระหว่าง 18.5 – 22.99 ซึ่งคำนวนได้จากสูตร “น้ำหนักตัว [กิโลกรัม] ÷ ส่วนสูง [เมตร] ยกกำลังสอง” เพื่อป้องกันการเกิดโรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดที่นำไปสู่ภาวะสมองเสื่อม
  8. ไม่สูบบุหรี่ งดหรือลดแอลกอฮอล์
    การสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม เพราะในบุหรี่มีสารนิโคตินและสารพิษที่ส่งผลต่อการทำงานที่ผิดปกติของระบบสมอง เช่นเดียวกับแอลกอฮอล์ที่สามารถดูดซึมผ่านหลอดเลือดเข้าไปทำลายเซลล์สมองได้
  9. ตรวจสุขภาพประจำทุกปี
    หากพบความผิดปกติ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง สายตาบกพร่องหรือการได้ยินบกพร่อง ก็ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามการแนะนำของแพทย์
  10. หลีกเลี่ยงการใช้ยากดการทำงานของสมอง
    โดยสังเกตข้อบ่งใช้ที่เขียนไว้บนฉลากยาว่า ยานี้อาจทำให้ง่วงซึม มึนงง และไม่ควรใช้ยาก่อนขับขี่ยานพาหนะ หรือขณะทำงานที่ต้องใช้เครื่องจักร เช่น ยาแก้แพ้ชนิดง่วง ยาคลายกล้ามเนื้อ เนื่องจากเป็นยาที่อาจกดการทำงานของสมอง
  11. ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะ
    การป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะมีหลายรายงานการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อม มีประวัติเคยได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะมากกว่าคนที่ไม่มีภาวะสมองเสื่อม

การป้องกันอัลไซเมอร์และโรคหลอดเลือด สามารถทำได้ไม่ยาก โดยเน้นเรื่องการดูแลพฤติกรรมสุขภาพ ซึ่งต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้เพื่อให้ห่างไกลจากภาวะสมองเสื่อมในอนาคต แต่หากคุณมีผู้สูงอายุที่กำลังเผชิญกับโรคอัลไซเมอร์อยู่ในตอนนี้ การเลือกใช้บริการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ที่บ้าน ศูนย์จัดส่งผู้ดูแลผู้สูงอายุที่บ้านที่มีมาตรฐาน จัดส่งผู้ดูแลที่มีประสบการณ์และผ่านการอบรม เพื่อช่วยดูแลและแบ่งเบาหน้าที่การดูแลผู้สูงอายุ ก็จะช่วยลดความเครียดและความเหนื่อยล้าของญาติจากการดูแลได้ค่ะ

เรียบเรียงโดย : ศ. นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล
ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
Cr : Gen ยัง active มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล