“อัลไซเมอร์” โรคที่ต้องการความเข้าใจไม่ใช่ความรุนแรง

ปัจจุบันนี้มีผู้ป่วยสมองเสื่อมเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ดูแลต้องรับหน้าที่หนักหลายด้าน หลายครอบครัวที่มีผู้สูงอายุในบ้านอาจมีความกังวลเรื่องการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม เพราะมักเป็นโรคที่พบในผู้สูงอายุ ทำให้ผู้ที่เป็นมีภาวะที่ความสามารถทางสติปัญญาลดลง คิดและจำไม่ได้ จึงเกิดอาการหลงลืม การใช้ภาษาผิดปกติ และพฤติกรรมรวมถึงอารมณ์เปลี่ยนไป โดยโรคอัลไซเมอร์เป็นภวะสมองเสื่อมที่พบบ่อยที่สุด โดยเฉลี่ยผู้ที่ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์จะอยู่ได้นาน 8-10 ปี

สาเหตุของโรคนั้นมีอยู่หลายประการ ได้แก่พันธุกรรม อายุที่เพิ่มขึ้น ประวัติคนในครอบครัวที่เคยเป็นโรคนี้ หรือการได้รับอุบัติเหตุทางสมองทำให้สมองได้รับบาดเจ็บ ก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคด้วยเช่นกัน รวมถึงผู้ที่มีปัญหาเรื่องหลอดเลือด เบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง และการขาดสารอาหารบางชนิด เช่น วิตามินบี 1, วิตามินบี 12 เป็นต้น

สมองเสื่อมกับอาการเริ่มแรก

อาการเริ่มแรก มักเป็นการลืมเรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ๆ ไม่นาน ในขณะที่ความจำเรื่องเก่าๆ ในอดีตจะยังดีอยู่ ผู้ป่วยอาจถามซ้ำๆ หรือพูดซ้ำในเรื่องที่เพิ่งคุยกัน และอาจมีอาการอื่นๆ เช่น วางของแล้วลืม ทำอะไรที่เคยทำประจำไม่ได้ สบสนเรื่องเวลา สถานที่ หลงทิศทาง นึกคำพูดไม่ค่อยออก หรือใช้คำพูดผิดๆ แทน

อารมณ์ พฤติกรรม และบุคลิกภาพที่เปลี่ยนไปจากเดิม การตัดสินใจแย่ลง ไม่สามารถมีความคิดริเริ่มใหม่ๆ ได้ ซึ่งอาการต่างๆ เหล่านี้จะค่อยเริ่มเปลี่ยนแปลง จนทำให้เกิดปัญหาต่อการทำงานและกิจวัตรประจำวัน ซึ่งการที่จะเห็นการเปลียนแปลงได้เร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับระดับความสามารถเดิม การศึกษา แหละหน้าที่เดิมของผู้ป่วย รวมถึงความช่างสังเกตและเอาใจใส่ของญาติด้วย

ระยะของโรคอัลไซเมอร์

  1. ระยะก่อนสมองเสื่อม  ผู้ป่วยมีความบกพร่องทางการเรียนรู้เล็กน้อย มีปัญหาในการจดจำข้อมูลใหม่ ไม่สามารถรับข้อมูลใหม่ได้ แต่ยังสามารถดำเนินชวิตประจำวันได้ปกติ
  2. สมองเสื่อมระยะแรก สูญเสียความจำในระยะสั้น ความจำใหม่หรือความจำที่เพิ่งเรียนรู้มา ใช้เวลาในการทำกิจวัตรประจำวันนานกว่าเดิม
  3. สมองเสื่อมระยะปานกลาง ลืมและสับสนมากขึ้น ทำกิจกรรมเดิมซ้ำๆ การพูดและการใช้ภาษาจะบกพร่องชัดเจน
  4. สมองเสื่อมระยะสุดท้าย สูญเสียความทรงจำในระยะสั้นและยาว การใช้ภาษาลดลงอย่างมาก การทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ จะลดลง ต้องมีผู้ดูแลตลอดเวลา

โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้แต่ทางการแพทย์จะมียาที่ช่วยควบคุมอาการป่วยไม่ให้แย่ลง นอกจากนี้คนรอบข้างหรือคนในครอบครัวคือส่วนสำคัญที่สุด ที่จะช่วยรักษาผู้ป่วยให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข หลักการดูแลรักษาอัลไซเมอร์มี 4 บ ได้แก่

  1. บอกเล่า คือบอกให้ผู้ป่วยทราบว่าจะทำหรือให้ทำอะไร ด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล
  2. เบี่ยงเบน คือหลีกเลี่ยงการโต้เถียง และไม่ต้องชี้แจงเหตุผล พยายามดึงจุดสนใจไปสู่กิจกรรมที่คุ้นเคยและรื่นรมย์
  3. บอกซ้ำ คือเล่าให้ฟังว่าจะทำอะไรต่อไปด้วยท่าทีและน้ำเสียงเป็นมิตร ถ้าผู้ป่วยหงุดหงิดหรือทำไม่ได้ก็ต้องหยุด
  4. แบ่งเบา/บำบัด คือสิ่งแวดล้อมต้องสงบ หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่มากเกินไป และดำเนินกิจวัตรประจำวันอย่างเป็นระเบียบ

อัลไซเมอร์ โรคที่ต้องการความเข้าใจที่สำคัญที่สุดในหลักการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ก็คือ “ความเข้าใจ” คนในครอบครัวหรือผู้ดูแลต้องทำความเข้าใจว่าผู้ป่วยต้องการความช่วยเหลือในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานจากผู้ดูแลอย่างแท้จริง และคนไข้ไม่ได้แกล้งทำ ผู้ดูแลต้องทำใจยอมรับ อดทน และไม่ทอดทิ้ง ดูแลด้วยความรักความเข้าใจ พยายามให้กำลังใจผู้ป่วย และผู้ดูแลเองก็ต้องรู้ขีดจำกัดของตัวเอง เพราะการดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ อาจก่อให้เกิดความเครียดหรือปัญหาด้านอารมณ์ หากผู้ดูแลรู้สึกเหนื่อยควรหยุดพักและให้ผู้อื่นมาดูแลแทน

การเลือกใช้บริการจากศูนย์จัดส่งผู้ดูแลผู้สูงอายุ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ที่บ้าน ถือเป็นตัวเลือกที่ดีไม่น้อย เพราะจะช่วยลดความเครียดของญาติที่ต้องรับรู้ถึงอาการที่เสื่อมถอยลงเรื่อยๆ คอยรับอารมณ์ และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ป่วยจากการที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด จนไม่มีเวลาพักผ่อนเป็นของตัวเองแล้ว การดูแลผู้ป่วย ผู้สูงอายุที่บ้านยังช่วยให้ญาติได้พูดคุย มีปฎิสัมพันธ์ และสามารถติดตามอาการของผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิดในทุกวันด้วยค่ะ

Cr : โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์, Rama channel (คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล)

Leave a Comment